- Details
- Created: Friday, 12 April 2013 08:56
- Last Updated: Friday, 12 April 2013 09:08
- Published: Friday, 12 April 2013 08:56
- Written by Super User
บทความนี้ เอามาจาก เวปไซท์ของ ชมรมคาราเต้ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย ดร.พงศาล มีคุณสมบัติ
แม้คาราเต้จะเป็นศิลปะการต่อสู้ที่อาจจะไม่ค่อยแพร่หลายนักในประเทศไทย แต่เชื่อว่าหลายคนคงอาจเคยได้ยินถึงคาราเต้แล้วนึกสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ ผมจึงถือโอกาสรวบรวมคำถามคาใจที่เคยได้ยินมามาเล่าให้ฟังจะได้รู้จักคาราเต้กันมากขึ้น
คาราเต้คืออะไร?
คาราเต้คือศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าแบบปะทะของญี่ปุ่นที่ดัดแปลงมาจากมวยจีน โดยมีต้นกำเนิดอยู่ที่เกาะโอกินาว่าซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ใต้สุดของญี่ปุ่นที่เคยเป็นของจีนมาก่อน คาราเต้ใช้ทั้งมือและเท้าในการต่อสู้โดยแบ่งการฝึกฝนออกเป็น 3 ประเภทคือ การฝึกเทคนิค (Kihon) การฝึกท่ารำ (Kata) และการฝึกการต่อสู้ (Kumite) แม้ว่าคาราเต้จะมีอยู่หลายแขนง แต่การฝึกฝนทั้ง 3 ประเภทนี้อย่างได้สมดุลก็ยังเป็นหัวใจหลักของคาราเต้เกือบทุกแขนง
คาราเต้มีกี่แขนง?
ในสมัยเริ่มแรกตอนที่คาราเต้ยังอยู่แต่เฉพาะในเกาะโอกินาว่า แต่ละสำนักก็มีการคิดค้นฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่ต่างกันออกไป ชื่อของสำนักเหล่านี้จึงกลายมาเป็นชื่อแขนงของคาราเต้ เช่นโทมาริเตะ นาฮาเตะ และชูริเตะ เป็นต้น ต่อมาลูกศิษย์ลูกหาของแต่ละสำนักก็แยกตัวออกไปเปิดเอง และแยกเป็นแขนงอื่นอีกหลายสิบแขนง แม้แต่หลังจากที่มีการเผยแพร่คาราเต้เข้ามาในแผ่นดินใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นและมีการจัดระเบียบแบบแผนแล้ว คาราเต้ก็ยังคงแตกแขนงออกไปตามการตีความหมายและความถนัดของอาจารย์เจ้าของสำนักแต่ละท่าน หากนับรวมคร่าวๆ แล้ว ในปัจจุบันคาราเต้น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 50 แขนงทั่วโลก ในประเทศไทยมีการฝึกคาราเต้อย่างเป็นทางการเพียง 2 แขนงเท่านั้น คือโกจูริว (หนึ่งในคาราเต้ดั้งเดิมก่อนเข้าประเทศญี่ปุ่น) และโชโตกัน (คาราเต้แผนใหม่ที่ถูกเผยแพร่เป็นแขนงแรกจากโอกินาว่าสู่ประเทศญี่ปุ่น)
ทำไมคาราเต้ต้องฟันอิฐทำลายข้าวของด้วย?
การฟันอิฐชกไม้ที่เห็นกันในการแสดงสาธิตหรือในภาพยนต์เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของคาราเต้ ที่ใช้เป็นการวัดว่าผู้ฝึกสามารถรวมและส่งพลังได้คมแค่ไหน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ แม้สามารถนำไปใช้ประกอบการแสดงสาธิตที่คนดูประทับใจและจดจำได้ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายของการฝึกคาราเต้แต่อย่างใด ซึ่งแม้แต่คนที่ได้สายดำหลายคนอาจจะยังไม่เคยฟันอิฐมาก่อนเลยก็ได้
แล้วศิลปะการต่อสู้แบบปะทะคืออะไร?
ก็คือศิลปะการต่อสู้ที่เน้นในการออกเทคนิคปะทะเป้าหมาย เช่นการชกด้วยหมัด การเตะด้วยเท้า การกระแทกด้วยศอก การฟันด้วยสันมือ เป็นต้น ศิลปะประเภทนี้นอกจากคาราเต้แล้วก็ยังมีเทควันโด มวยสากล มวยไทย กังฟู และอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีศิลปะการป้องกันตัวแบบจับหัก เช่นไอคิโด และแบบจับทุ่ม เช่นยูโด ซูโม มวยปล้ำ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ไม่ได้หมายความว่ามวยแบบปะทะจะจับหักหรือจับทุ่มไม่เป็น ทั้งคาราเต้ เทควันโด และมวยไทย ต่างก็มีเทคนิคประเภทนี้ทั้งนั้น เพียงแต่ไม่ได้เน้นเท่าศิลปะเฉพาะทาง
ทำไมต้องฝึกคาตะหรือกาต้า?
การฝึกเทคนิคพื้นฐานของคาราเต้ เพื่อให้เกิดความชำนาญในการออกอาวุธด้วยท่าต่างๆ นับเป็นรากฐานที่สำคัญของการต่อสู้ แต่การฝึกเทคนิคเหล่านี้ซำ้ๆ กันเพียงอย่างเดียว (เช่นการยืนชกหรือเตะลมซ้ำๆ กันหลายร้อยครั้ง) เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ขาดเรื่องราวและความต่อเนื่องของการใช้เทคนิคต่างๆ ในศิลปะการต่อสู้แบบตะวันออกจึงได้มีการรวบรวมเอาเทคนิคพื้นฐานต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นชุด เรียกว่าคาตะ (Kata) หรือที่คนไทยเรียกกันว่ากาต้า ซึ่งสำหรับนักศิลปะการต่อสู้หลายคนแล้ว คาตะเป็นเสมือนคำภีร์ที่รวมเอาเทคนิคต่างๆ ในศิลปะการต่อสู้นั้นๆ พร้อมกับการประยุกต์ใช้ที่เป็นเรื่องราวประติดประต่อกันอย่างสวยงาม การฝึกฝนคาตะเหล่านี้อย่างจริงจังมิใช่เพียงท่วงท่าภายนอก จะทำให้ผู้ฝึกได้ทั้งการฝึกเกลาเทคนิคพื้นฐาน และการต่อสู้กับศัตรูในจินตนาการไปในเวลาเดียวกัน หรือสำหรับผู้ที่ละการฝึกมาเป็นเวลานาน การรื้อฟื้นวิทยายุทธด้วยการทบทวนคาตะนับว่าเป็นทางหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง
และเนื่องจากคาตะมีความสำคัญเสมือนกระดูกสันหลังของคาราเต้นี่เอง การทดสอบความสามารถและความเข้าใจในการรำคาตะจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสอบเลื่อนสายในทุกๆ ขั้น โชโตกันคาราเต้มีคาตะทั้งหมด 26 ชุดด้วยกัน ซึ่งตามแบบแผนสากลแล้ว ผู้ที่จะผ่านการสอบสายดำขั้นที่ 1 จะต้องรู้และทำคาตะได้ดีอย่างน้อย 9 ชุด (คาตะพื้นฐาน 5 ชุดและคาตะขั้นกลางอีก 4 ชุด)
คาราเต้กับเทควันโด ต่างกันอย่างไร?
คำตอบง่ายๆ คือไม่ต่างกัน ทั้งสองเป็นมวยปะทะที่ใช้ทั้งมือและเท้า ทั้งสองมีการฝึกทั้งแบบต่อสู้ (sparring) และแบบท่ารำ (Kata) แต่หากมองกันในด้านลึกแล้ว ศาสตร์ทั้งสองนี้มีความแตกต่างกันระดับปรัชญาเลยทีเดียว ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ คาราเต้จะเน้นการใช้มือเป็นหลักและใช้เท้าเป็นส่วนเสริม ในขณะที่เทควันโดจะเน้นการใช้เท้าเป็นหลัก คาราเต้มุ่งเน้นในการล้มคู่ต่อสู้ภายใน 1-2 จังหวะด้วยเทคนิคที่มีประสิทธิภาพและตรงไปตรงมา (คล้ายกับการดวลดาบของซามูไร) ในขณะที่เทควันโดจะเน้นที่ความคล่องแคล่วในการหลอกล่อคู่ต่อสู้และโจมตีด้วยเทคนิคที่สวยงาม ในด้านลึกแล้ว คาราเต้ถูกออกแบบมาสำหรับซามูไรหรือทหารในสมัยโบราณเพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันบ้านเมือง ในขณะที่ตามประวัติศาสตร์แล้ว เทควันโดถูกดัดแปลงมาจากศิลปะเก่าแก่ทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลี เพื่อให้เป็นกีฬาที่ใช้ในการแข่งขัน
แต่คาราเต้ก็มีการแข่งขันไม่ใช่หรือ?
การแข่งขันคาราเต้มี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการแข่งขันท่ารำหรือคาตะ (Kata) ซึ่งคล้ายกับการแข่งขันยิมนาสติกหรือวูซู (Wushu) ที่กรรมการจะให้คะแนนตามความสวยงาม ถูกต้อง พละกำลัง ความเร็ว ความมุ่งมั่นและสมาธิของผู้แข่งขัน ประเภทที่สองเป็นการแข่งขันต่อสู้ คล้ายๆ กับการแข่งขันเทควันโดหรือมวยสากล แต่ผู้ที่ทำคะแนนได้จะต้องออกเทคนิคอย่างถูกต้องด้วยความเร็วและแรงสูงสุดและต้องหยุดหมัดหรือเท้าเพียงแค่ที่ผิวของคู่ต่อสู้โดยที่ไม่ทำให้บาดเจ็บแต่อย่างใด หากใครทำให้อีกฝ่ายหนึ่งบาดเจ็บหรือน็อคเอาท์ ก็จะถูกตัดคะแนนหรือปรับแพ้ไปในที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากคาราเต้มุ่งเน้นในการเอาชนะตัวเองและเคารพผู้อื่น การต่อสู้ประชันฝีมือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเทียบว่าใครจะสามารถควบคุมและเอาชนะตัวเองได้มากกว่ากัน แทนที่จะมุ่่งที่การทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่ง
สรุปแล้วคาราเต้กับเทควันโด อันไหนดีกว่ากัน?
ศิลปะการต่อสู้ที่ดีที่สุดคือศิลปะที่เหมาะสมกับตัวผู้ฝึกมากที่สุด และตัวผู้ฝึกเองก็ต้องมีความรักและทุ่มเทให้กับการฝึกฝนศิลปะนั้นๆ ศิลปะการต่อสู้ทุกประเภท ไม่ว่าจะมีต้นกำเนิดมาจากไหนหรือมุ่งเน้นไปในด้านใดก็ตาม ล้วนแต่เป็นการฝึกตนเพื่อพัฒนาบุคคลนั้นให้รู้จักควบคุมร่างกายและจิตใจ มีความมั่นใจในตัวเอง มีวินัย มีความรับผิดชอบ เคารพผู้อื่น เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งที่ดีของสังคม
ทำไมไม่ค่อยเห็นคาราเต้ในภาพยนต์เหมือนศิลปะการต่อสู้ประเภทอื่น?
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า คาราเต้มุ่งเน้นในการล้มคู่ต่อสู้ภายใน 1-2 จังหวะเท่านั้นด้วยเทคนิคที่ตรงไปตรงมา ดังนั้นหากมีการเลือกใช้คาราเต้ในภาพยนต์ ฉากต่อสู้ที่ผู้ชมเฝ้ารอดูก็จะจบลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นภาพยนต์ที่เกี่ยวข้องกับคาราเต้ เช่นเรื่องคาราเต้คิด (Karate Kid) หรือเรื่องภาพยนต์ซามูไรอื่นๆ จะเป็นแนวชีวิตปรัชญามากกว่าที่จะเป็นแนวแอ๊คชั่น ที่สุดท้ายแล้ว ภาพที่ผู้ชมจดจำก็มักจะเป็นเนื้อหาหรือข้อคิดในเรื่องมากกว่าที่จะเป็นฉากต่อสู้
ทำไมคาราเต้ต้องร้องเสียงดังเวลาออกท่าทาง?
การออกเทคนิคไม่ว่าจะเป็นการชกหรือเตะ จะต้องมีความสัมพันธ์กับจังหวะการหายใจอยู่เสมอ เช่นเดียวกับศิลปะการต่อสู้อื่นๆ ไม่ว่าจะอ่อนนุ่มอย่างไทเก็ก หรือแข็งแกร่งอย่างมวยไทย ในขณะที่หมัดหรือเท้าปะทะกับเป้าหมายจะต้องมีการระบายความดันลมออกจากท้องน้อย (สำหรับศิลปะตะวันออกแล้วนับว่าเป็นจุดกำเนิดแรงหลักของร่างกาย) มิเช่นนั้นแรงปฏิกิริยาจากการปะทะจะวิ่งย้อนในลักษณะของคลื่นกระแทก (shock wave) ผ่านทางหมัดหรือเท้าเข้าสู่ส่วนของร่างกายที่มีแรงดันลมอยู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการจุกหรือสำลักลมได้ ยิ่งเทคนิคปะทะเป้าแรงเท่าใด แรงปฏิกิริยาที่ย้อนกลับมาก็จะแรงเท่านั้น เราไม่สามารถที่จะลดแรงปฏิกิริยานี้ได้ (กฎข้อที่ 3 ของนิวตัน) แต่เราสามารถที่จะเตรียมร่างกายเพื่อดูดซับแรงนี้ได้ด้วยการลดความดันลมภายในร่างการโดยเฉพาะที่จุดกำเนิดแรง (ท้องน้อย) ซึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดก็คือการปล่อยลมจากท้องน้อย (ไม่ใช่จากคอ) ผ่านทางปาก ด้วยอัตราที่สัมพันธ์กับความเร็วของเทคนิค จึงทำให้เกิดเสียงที่ดังและสั้นตามจังหวะของเทคนิคที่ออกไป ดังนั้นแม้ในการฝึกเทคนิคโดยไม่มีการปะทะเป้า (การชกหรือเตะลม) การฝึกเปล่งเสียงตามจังหวะของเทคนิคที่ออกไปจึงเป็นการฝึกจังหวะการหายใจที่สำคัญ เสียงนี้ยังใช้ในการข่มขู่คู่ต่อสู้ซึ่งแม้จะได้ผลในบางครั้ง แต่ก็นับเป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
ผู้ที่ฝึกคาราเต้จะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร?
ควรจะเป็นคนที่มีความตั้งใจที่จะพัฒนายกระดับความสามารถทางร่างกายและจิตใจของตนเอง ไม่มีข้อจำกัดทางเพศหรือวัย คาราเต้เป็นเรื่องของการสร้างแรง ไม่ใช่การใช้แรงเพียงอย่างเดียว ไม่จำเป็นต้องเป็นคนตัวอ่อน แยกขาได้สุด เพราะยังมีอีกหลายเทคนิคที่คุณจะใช้ได้มากกว่าการยกเท้าเตะศีรษะคู่ต่อสู้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนชอบการปะทะ เพราะคุณสามารถมุ่งเน้นที่การฝึกท่ารำและเทคนิคอื่นๆ ได้ ขอเพียงมีความตั้งใจและรับผิดชอบ เท่านี้สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคก็จะไม่ใช่อีกต่อไป
การได้สายดำคือการเรียนจบหลักสูตรคาราเต้ ใช่หรือไม่?
ก็ไม่เชิง การที่ผู้ฝึกคาราเต้ได้สายดำขั้นที่ 1 (1 ดั้ง) หมายความว่า ผู้นั้นผ่านการฝึกพื้นฐานมาแล้วและพร้อมที่จะเริ่มการฝึกฝนในขั้นที่สูงขึ้น ความหมายของ 1 ดั้งหรือ “โชดัง” (Shodan) จริงๆ แล้วคือผู้เริ่มต้น เริ่มที่จะฝึกคาราเต้อย่างจริงจัง และพร้อมที่จะหาคำตอบว่าจริงๆ แล้วคาราเต้คืออะไรกันแน่
แล้วเมื่อไหร่ถึงจะเรียนจบคาราเต้?
เมื่อคุณเลิกเรียนคาราเต้ คาราเต้เป็นหนทาง ไม่ใช่เป้าหมาย และหนทางนี้มีความยาวที่แม้จะเดินทั้งชีวิตก็ยังไม่สุด ทางเดียวที่จะจบได้คือคุณก้าวออกจากเส้นทางนี้ไปใช้เส้นทางอื่น แม้แต่ปรามจารย์ระดับสายดำขั้นที่ 10 (ซึ่งทั้งโลกมีอยู่ไม่ถึง 10 คน) ยังรู้สึกว่าตัวเองยังมีอะไรที่ต้องฝึกฝนอีกมาก
พงศาล มีคุณสมบัติ
ผู้ฝึกสอน ชมรมคาราเต้โด มหาวิทยาลัยนเรศวร
สายดำขั้นที่ 3 สหพันธ์โชโตกันคาราเต้โดนานาชาติ (SKIF) และสมาคมคาราเต้ประเทศญี่ปุ่น (JKA)