คาราเต้-โด ?

ค้นหา ความหมาย ที่แท้จริง ของ วิถีแห่งคาราเต้ !!

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันศิลปะป้องกันตัวคาราเต้ได้เผยแพร่จากญี่ปุ่นไปทั่วทุกมุมโลก สาเหตุหนึ่งที่นิยมกันทั่วโลก เพราะ คาราเต้ไม่เพียงมีพื้นฐานการเคลื่อนไหว ที่เต็มไปด้วยพลังตามวิถีแห่งคาราเต้เท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยไปด้วย การฝึกฝนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การฝึกฝนต้องอาศัยร่างกายที่สมบูรณ์ มีจิตใจที่เข้มแข็งและบุคลิกอุปนิสัยที่ดี ซึ่งเราจะรู้สึกประทับใจในท่วงท่าการเคลื่อนไหวอันงดงามและตื่นเต้นเร้าใจของคาราเต้

Share

วิถีแห่งคาราเต้เป็นเทคนิคการใช้มือเปล่าที่ได้จากการฝึกจนสามารถดึงพลังจากส่วนต่างๆของร่างกายมาใช้ รูปแบบการฝึก จากท่าพื้นฐานสามารถฝึกและพัฒนาไปสู่ระดับสูง ขนาดมีกำลังบังคับศัตรูประหนึ่งมีอาวุธ หัวใจสำคัญที่แสดงถึงความงดงามของเทคนิค ในวิถีแห่งคาราเต้ จะถูกเรียกว่า “คาต้า (kata)” ซึ่ง เป็นรูปแบบการฝึกที่เป็นแบบแผน นักคาราเต้จะแสดงการเคลื่อนไหวของร่างกาย อย่างเป็นจังหวะจะโคน มีทั้งการกระโดด การปรับสมดุลการทรงตัวของร่างกาย การเคลื่อนไปข้างหน้าและหลัง การเคลื่อนไหว ซ้ายและขวา การขึ้นและลง อย่างนิ่มนวลหรือรุนแรง ด้วยความเร็วต่ำและสูง ในการต่อสู้แบบอิสระ เทคนิคการรับและรุก เช่น การชก การเตะ การกระแทก การผสมผสานระหว่างการปัดป้อง และการจู่โจมในเวลาเดียวกัน (การปัดป้องเชิงรุก) ในแต่ละเทคนิค จะกระทำด้วยความเร็วสูง ซึ่งต้องอาศัยการประสานการเคลื่อนไหวที่เฉียบไวของผู้ฝึก

วิถีแห่งคาราเต้อาจนับได้ว่าเป็นการฝึกฝนร่างกายทางกายภาพที่ดีที่สุดทางหนึ่ง ไม่เพียงแต่ แขนขา และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ได้รับการฝึกอย่างเป็นระบบ แต่ยังมีการฝึกกล้ามเนื้อ ส่วนที่ไม่ค่อยใช้งานอีกด้วย

วิถีแห่งคาราเต้ เป็นศิลปะการป้องกันตัว และการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาการไปสู่การแข่งขันในเชิงกีฬา อย่างไรก็ตาม การแข่งขันคาราเต้-โด จะดำเนินภายใต้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้แข่งขัน -โด เกิดจากจิตวิญญาณที่ดี ของนักคาราเต้ การต่อสู้มีการควบคุมกำลัง มีเทคนิค การตัดสินที่ยุติธรรมของกรรมการ และการควบคุมอารมณ์ของคนดูผู้มีร่างกายอ่อนแอ, ผู้หญิง, เด็ก และคนชรา สามารถฝึกคาราเต้ได้ ผู้ฝึกคาราเต้ควรเน้นด้านจิตวิญญาณ ของวิถีแห่งคาราเต้อยู่เสมอ

สรุป คาราเต้-โด คือวิถีทางแห่งการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดี มีคุณธรรม สามารถป้องกันตัวเองและ ช่วยเหลือผู้อื่นได้ในยามคับขัน ปัจจุบันได้มีการฝึกฝนเพื่อความเป็นเลิศในการแข่งขันกีฬาอีกด้วย !!

"คาราเต้" .. ความหมายตีความตามอักษร และ ความเป็นมา

คำว่า "คาราเต้" เดิมทีมาจากการออกเสียงแบบชาวโอะกินะวะ ตัว "คารา" 唐 ในภาษาจีน หมายถึง "ประเทศจีน" หรือ "ราชวงศ์ถัง" ส่วน "เต้" 手 หมายถึง มือ คาราเต้ หมายความว่า "ฝ่ามือจีน" หรือ "ฝ่ามือราชวงศ์ถัง" หรือ "กำปั้นจีน" หรือ "ทักษะการต่อสู้แบบจีน" ในรูปแบบการเขียนแบบนี้ "ฝ่ามือราชวงศ์ถัง" จึงหมายถึง การต่อยมวยแบบถัง หรือ "ฝ่ามือจีน" ก็บ่งบอกถึงอิทธิพลที่รับมาจากลักษณะการต่อสู้ของชาวจีน ในปีค.ศ. 1933 หลังจากสงครามระหว่างจีนกับญี่ปุ่นครั้งที่ 2 กิชิน ฟุนาโคชิ (船越義珍 Funakoshi Gichin, 1868-1957) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะ บิดาแห่งคาราเต้สมัยใหม่ ได้เปลี่ยนตัวอักษร "คารา" ไปเป็นตัวอักษรที่มีเสียงเหมือนกันแต่มีความหมายว่า "ความว่างเปล่า" 空 แทน

เมื่อปีค.ศ. 1936 หนังสือเล่มที่สองของฟุนาโคชิใช้ตัวอักษร "คารา" ที่มีความหมายว่าความว่างเปล่า และในการชุมนุมบรรดาอาจารย์ชาวโอะกินะวะก็ใช้ตัวอักษรเดียวกัน ตั้งแต่นั้นมาคำว่า "คาราเต้" (ซึ่งออกเสียงเหมือนเดิม แต่ใช้ตัวอักษรใหม่) จึงหมายถึง "มือเปล่า"

คำว่า "มือเปล่า" ไม่เพียงแต่นักคาราเต้จะต่อสู้โดยปราศจากอาวุธแล้ว ยังซ่อนความหมายตามความเชื่อแบบเซ็นไว้ด้วย เพราะตามวิถีแห่งเซ็นการพัฒนาความสามารถ และศิลปะของแต่ละบุคคล จะต้องทำจิตใจให้ว่างเปล่า ละเว้นจากความปรารถนา ความมีทิฐิและกิเลสต่างๆ

คาราเต้ แปลว่า วิถีแห่งการใช้มือ (ร่างกาย) ต่อสู้โดยปราศจากอาวุธ วิถีแห่งคาราเต้เป็นวิธีการดึงพลังจากทั้งร่างมารวมให้เป็นหนึ่งในการต่อสู้โจมตี ซึ่งความรุนแรงของการโจมตีนั้นมีคำกล่าวถึงว่า "อิคเคน ฮิซัทสึ"(一拳必殺) หรือ "พิชิตในหมัดเดียว" สิ่งที่สำคัญของคาราเต้คือการต่อสู้กับตนเอง เช่นการฝึกยั้งแรงการโจมตี โดยใช้ในการหยุดโจมตีเมื่อสัมผัสร่างกายคู่ต่อสู้แม้เพียงเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความรู้สึกเจ็บไม่มากและป้องกันการบาดเจ็บ ซึ่งเป็นการฝึกการกำหนดความรุนแรงของการโจมตี เมื่อผู้ฝึกสามารถยั้งแรงได้ เขาก็จะเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีได้จนถึงขีดความสามารถเช่นเดียวกัน

คำว่า โด แปลว่า วิถีทาง ลู่ทาง ศาสตร์ อีกทั้งยังหมายถึงปรัชญาเต๋าอีกด้วย โด เป็นคำต่อท้ายที่ใช้สำหรับศิลปะหลายชนิด ให้ความหมายว่า นอกจากจะศิลปะเหล่านั้นจะเป็นทักษะแล้ว ยังต้องมีพื้นฐานของจิตวิญญาณอยู่ด้วย สำหรับในความหมายที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการต่อสู้ อาจจะแปลได้ว่า "วิถีแห่ง..." เช่น ใน ไอคิโด ยูโด เคนโด ดังนั้น "คาราเต้โด" จึงหมายถึง "วิถีแห่งมือเปล่า"

"โด" อาจมองได้ 2 แบบ คือ แบบปรัชญา และแบบกีฬา

"โด" แบบปรัชญา ด้วยความหมายที่แปลว่า วิถีทาง และเป็นชื่อศาสนาเต๋าของศาสดาเหล่าจื๊อ ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในด้านปรัชญาพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่น การตีความหมายคำนี้ จึงอาจมองได้ว่า วิถีทางการดำเนินชีวิต จิตวิญญาณของนักคาราเต้ เป็นต้น ซึ่งนักคาราเต้บางท่าน อาจใช้ คาราเต้ เป็นวิถีแห่งการเข้าถึง จิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ(เต๋า เซน) ได้ ดังนั้น คำว่า "โด" ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละคนจำมีวิธีการในการเดินแตกต่างกัน

"โด" แบบกีฬา จริง ๆ ในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีทั้งคำว่า คาราเต้ และ คาราเต้โด ทำไมต้องเพิ่มคำว่า โด คำว่า "โด" เริ่มใช้ครั้งแรกในศิลปะป้องกันตัว ยูโด โดยปรมาจารย์จิกาโร่ คาโน แห่งโคโดกันยูโด เพื่อเปลี่ยนแปลง และแบ่งแยกวิชาใหม่ โดยแยกตัวออกจากวิชา ยูยิทสุ ซึ่งยูโดได้ตัดทอนกระบวนท่าที่อันตรายออกไป เพื่อการฝึกฝนได้อย่างเต็มที่ และสามารถจัดการแข่งขันได้

คาราเต้ แต่เดิมไม่มีคำว่าโด เช่นกัน แต่ก่อนจะเรียกว่า คาราเต้จิทสุ หรือว่า คาราเต้ แต่เริ่มใช้คำว่า "โด" เมื่อมีการจัดการแข่งขันชิงชนะเลิศ ซึ่งต้องรวมนักคาราเต้จากทั้ง 4 สำนักใหญ่เข้าไว้ จึงต้องบัญญัติกฎการแข่งขันใหม่ ลดทอนการจู่โจมที่อันตราย และสามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และเป็นกลางที่สุด คำว่า "โด" ในคาราเต้จึงเกิดขึ้น และมีความหมายว่า วิถีทางการต่อสู้ในรูปแบบของคาราเต้ ซึ่งคำว่าคาราเต้โด โดยมากจะใช้ในการแข่งขัน

Ref : เอกสารเผยแพร่ศิลปะป้องกันตัวคาราเต้-โด แห่งประเทศญี่ปุ่น (โชโตกัน คาราเต้-โด)
Ref : th.wikipedia.org

 
Presets
BG Color
BG Patterns
Accent Color
Apply